Sunday Nov 24, 2024

ขนุน

ขนุน มะหนุน (ใต้, เหนือ) หมักหมี๊ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) : Artocarpus heterophyllus Lam. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : MORACEAE ขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร ลำต้นและกิ่งเมื่อมีบาดแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนมไหล ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรี กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 10 – 15 เซนติเมตร ปลายใบทู่ถึงแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบหรือเว้าเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบหนาผิวใบด้านล่างจะสากมือ ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบใกล้ปลายยอดและตามกิ่ง ช่อดอกรูปทรงกระบอกหรือขอบขนาน ยาว 10 – 15 ซม. ออกเป็นช่อเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่ม ช่อดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกอ่อนมีใบประดับปลายแหลม ขนาดยาว 5 – 6 ซม. หุ้ม มีขน ช่อดอกเพศผู้จะอยู่สูงกว่าและมีจำนวนมากเพศเมีย ช่อดอกเพศเมียเกิดทางซอกใบด้านล่าง ก้านช่อดอกขนาดใหญ่กว่าช่อดอกเพศผู้ เกสรเพศเมียรูปคล้ายกระบอง รังไข่รูปรี เชื่อมติดกัน ผล เป็นผลรวมขนาดใหญ่ การนำไปใช้ประโยชน์ ขนุนเป็นยาระบายอ่อนๆ บำรุงกำลัง แก้กระหายน้ำ ช่วยให้หายเมา ช่วยในการย่อยอาหาร ขนุนให้พลังงานสูงเพราะมีคาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้ยังมีวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา เมล็ดช่วยขับน้ำนมในสตรีหลังคลอดและบำรุงร่างกาย แก่น หรือ กรัก ของต้นขนุนนำไปต้มน้ำ ทำเป็นสีย้อมฝาดใช้ย้อมสบงจีวรพระ แหล่งที่พบ หน้าอาคารเรียน1 โซน A

ไกร

ไกร กร่าง ไทรกร่าง (กรุงเทพฯ) ไฮฮี (เพชรบูรณ์) : Ficus concinna Miq. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : MORACEAE ลำต้นสูงได้ถึง 30 เมตร มียางสีขาว รากอากาศเกิดใกล้โคนต้น ลำต้นและทุกส่วนสีน้ำตาล ใบ: ใบเดี่ยว ใบอ่อนสีชมพู เรียงเวียนสลับ รูปรีหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 5-8.5 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือแหลมติ่งสั้นๆ โคนแหลมหรือสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา เส้นแขนงใบข้างละประมาณ 12 เส้น ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบ เส้นกลางใบสีขาว เห็นเด่นชัดทั้ง 2 ด้าน ก้านใบยาว 1.2-1.5 เซนติเมตร หูใบ 2 อัน ประกบกันหุ้มยอดอ่อน รูปไข่แกมรูปใบหอก ร่วงง่ายดอก: ช่อดอกออกเป็นคู่ตามง่ามใบและอยู่ด้านล่างของใบ มีใบประดับเล็กๆ 3 ใบ รูปคล้ายสามเหลี่ยม ร่วงง่าย ก้านช่อดอกยาว 1-5 มิลลิเมตร ช่อดอกรูปร่างคล้ายผล คือมีฐานรองดอกเจริญเปลี่ยนแปลงขยายใหญ่เป็นเปาะ มีรูเปิดที่ปลายโอบดอกไว้ ผล: ผลอยู่ภายในช่อดอกที่มีลักษณะคล้ายมะเดื่อ สีชมพู รูปกลม กว้างประมาณ 6 มิลลิเมตร มีจุดสีแดงประปราย ภายในมีผลเล็กๆรูปไข่จำนวนมาก ก้านผลยาว 1-5 มิลลิเมตร การนำไปใช้ประโยนชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ แหล่งที่พบ ด้านหลังอาคาร 3 โซน A หน้าอาคาร 2 โซน B

แก้ว

แก้ว ตะไหลแก้ว แก้วพริก จ๊าพริก (เหนือ) แก้วลาย (สระบุรี) แก้วขี้ไก่ (ยะลา) แก้วขาว (กลาง) : Murraya paniculata (L.) Jack ชื่อวงศ์พรรณไม้ : RUTACEAE เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูง 3-8 เมตร ลำต้นมักคดงอและบิด เปลือกสีขาว แตกเป็นร่องตื้นเล็กๆ ใบ ใบประกอบ เรียงเวียนสลับ มีใบย่อย 3-7 ใบ ติดตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ใบคู่ล่างมีขนาดเล็กกว่าคู่ที่อยู่เหนือขึ้นไป รูปไข่แกมรี และรูปข้าวหลามตัดเอียง ผิวใบเขียวเข้มเป็นมัน ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอก สีขาว กลิ่นหอม ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือช่อ ช่อละ 2-5 ดอก กลีบรองดอกขนาดเล็ก มี 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปรีหรือรูปขอบขนาน บานกลางคืน ขณะบานกลีบจะม้วนออกด้านนอก กลีบหลุดง่าย เกสรเพศผู้มี 10 อัน ยาว 5 อัน สั้น 5 อัน เรียงสลับเป็นวงกลมล้อมรอบรังไข่ ผล รูปไข่ มีเนื้อเยื้อหุ้ม ยาวไม่เกิน 2 เซนติเมตร ผลแก่ออกสีส้มปนแดง ภายในมี 1-2 เมล็ด การนำไปใช้ประโยนชน์ เนื้อไม้ลายมัน สวยงาม มีน้ำมันในเนื้อไม้ นิยมใช้ทำเครื่องตกแต่งบ้าน ด้ามเครื่องมือ ไม้บรรทัด ด้ามปากกา ซอด้วง ซออู้ ใบปรุงเป็นยาขับระดูที่เรียกว่ายาประสะใบแก้ว และใช้เป็นยาระบายลม แก้จุกเสียแน่นเฟ้อ แหล่งที่พบ ด้านข้างศาลาสารภีคู่ โซน C

กระทุ่มบก

กระทุ่มบก : Mitragyna javanica Koord. & Valeton ชื่อวงศ์พรรณไม้ : RUBIACEAE ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 16-27 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ลำต้นเปลาตรง มีการลิดกิ่งเองตามธรรมชาติ กิ่งตั้งฉากกับลำต้น เปลือกสีเทาปนน้ำตาลค่อนข้างเรียบ เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามเป็นคู่ๆ กว้างประมาณ 5-12 เซนติเมตร ยาว 10-24 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบป้าน เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบมีขนสากๆและมีสีเข้มกว่าท้องใบ ท้องใบมีขนนุ่มและจะหลุดร่วงไปเมื่อใบแก่ เส้นแขนงใบมี 7-14 คู่ เห็นชัดทั้งสองด้านดอก ออกเป็นช่อกลมคล้ายลูกตุ้ม ดอกย่อยขนาดเล็ก สีเหลืองอ่อนหรือเหลืองแกมส้ม ผล เป็นแท่ง ขนาดเล็ก ออกเบียดชิดกันอยู่บนฐานรองช่อดอก การนำไปใช้ประโยนชน์ เนื้อไม้นำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างบ้าน ทำเครื่องเรือนหรือใช้ในการทำเยื่อและกระดาษ แหล่งที่พบ ทางเข้าอาคารหอพัก โซน B

กระบก

กระบก กะบก จะบก (กลาง), จำเมาะ (เขมร), ซะอัง (ซอง-ตราด), บก หมากบก (ตะวันออกเฉียงเหนือ), มะมื่น มื่น (เหนือ) : Irvingia malayana Oliv. ex A.W. Benn. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : IRVINGIACEAE ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10–30 เมตร ผลัดใบ เปลือกสีเทาอ่อนปนน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ เรือนยอดเป็นพุ่มแน่นทึบ ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปมนแกมขอบขนานถึงรูปหอก ผิวใบเกลี้ยง โคนใบมน ปลายใบทู่ถึงแหลม ดอก ดอกช่อขนาดเล็ก สีขาวปนเขียวอ่อน ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ผล ผลทรงกลมรี เมื่อสุกสีเหลืองอมเขียว เมล็ดแข็ง เนื้อในมีรสมัน การนำไปใช้ประโยนชน์ ประโยชน์ ใช้ทำฟืน ถ่าน ซึ่งให้ความร้อนสูง ทำเครื่องมือกสิกรรม และสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในร่ม เนื้อในเมล็ดกินได้ น้ำมันที่ได้จากเนื้อในเมล็ดใช้ทำอาหาร สบู่ และเทียนไข แหล่งที่พบ ด้านหน้าอาคารศูนย์วัฒนธรรม โซน C

กระโดน

กระโดน ปุย (ใต้, เหนือ) ปุยกระโดน (ใต้) ปุยขาว ผ้าฮาด (เหนือ) : Careya sphaerica Roxb. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : LECYTHIDACEAE เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบช่วงสั้นๆ สูง 8-20 เมตร เปลือกหนา สีน้ำตาลปนเทา หรือสีน้ำตาลดำ แตกปริเป็นสะเก็ดทั่วไป เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบ : เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง รูปไข่กลับ โคนใบสอบแคบเป็นรูปลิ่ม เนื้อใบหนา เกลี้ยงทั้งสองด้าน มีเส้นขอบใบ เส้นใบย่อยเป็นแบบร่างแห ขอบใบหยักถี่ๆและตื้น ก้านใบอวบ ค่อนข้างแบน ผิวเกลี้ยง ดอก: ขนาดใหญ่สีเขียวอ่อน ออกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายกิ่ง บานตอนเช้า กลีบรองดอก 4 กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปไข่ เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน กลีบดอก สีเขียวอ่อนบริเวณขอบกลีบและโคนกลีบออกสีชมพู หลุดง่าย เกสรผู้สีขาว มีจำนวนมาก โคนก้านเกสรจะติดรวมกัน มีสีแดงอ่อนๆ ผล: กลม สีเขียว ขนาดใหญ่ ลักษณะอวบน้ำ การนำไปใช้ประโยนชน์ เนื้อไม้ใช้ทำบ้านเรือน เปลือกให้เส้นใยหยาบๆใช้ทำเชือก ทุบทำเบาะรองหลังช้าง และทำกระดาษสีน้ำตาล สรรพคุณด้านสมุนไพร เปลือก เป็นยาสมาน แก้เคล็ด แก้เมื่อย ดอกเป็นยาบำรุงภายหลังคลอดบุตร ใบใช้รักษาแผลสด ผลช่วยย่อยอาหาร แหล่งที่พบ หน้าห้องปฐมพยาบาล โซน B บริเวณสนามเด็กเล่น หน้าอาคาร 7 โซน D

กระดังงาจีน

กระดังงาจีน การเวก (กลาง) สะบันงาจีน (เหนือ) : Artabotrys hexapetalus (L.f.) Bhandari ชื่อวงศ์พรรณไม้ : ANNONACEAE ไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยพาดซุ้มหรือค้าง ให้ร่มเงาได้ดี ผิวของกิ่งก้านค่อนข้างเรียบ ยอดอ่อนมีขนใบ: ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรี กว้าง 4-8.5 เซนติเมตร ยาว 8.5-20 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า ดอก: ดอกช่อ ดอกอ่อนสีเขียว มีขน เมื่อแก่สีเหลือง ผิวค่อนข้างเรียบ กลิ่นหอม กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยม กลีบดอกเรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ รูปขอบขนาน ปลายแหลม กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-4.5 เซนติเมตร โคนกลีบเว้าคล้ายรูปไข่ป้อมและโค้งแนบกับโคนกลีบชั้นใน มีจุดกระสีแดงที่ด้านในของโคนกลีบ เนื้อกลีบหนา กลีบดอกชั้นในคล้ายกลีบชั้นนอกแต่ขนาดเล็กกว่า เกสรเพศผู้ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก เกสรเพศเมียมีหลายอัน อยู่แยกกัน ยอดเกสรเพศเมียมีเมือกเหนียวติดกัน ผล: เป็นผลกลุ่ม กลุ่มละ 4-20 ผล แต่ละผลรูปรีป้อมหรือรูปไข่กลับ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง แต่ละผลมี 1-2 เมล็ด การนำไปใช้ประโยนชน์ เป็นไม้ดอกไม้ประดับให้ร่มเงา ให้ดอกตลอดปี มีกลิ่นหอมอ่อน ใช้ทำเครื่องหอม แหล่งที่พบ หน้าศาลาชื่นอารมณ์และศาลากระจ่างศรี โซน C

กล้วยพัด

กล้วยพัด กล้วยฝรั่ง กล้วยลังกา กล้วยศาสนา (กทม.) : Ravenala madagascariensis Sonn. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : STRELITZIACEAE ลักษณะตรง กลม มีข้อสั้นๆ คล้ายตาล สูงถึง 20 เมตรใบ: ใบเดี่ยว ขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายใบกล้วย รูปใบขอบขนาน เรียงเป็นสองทางสลับซ้ายขวาจนถึงยอด ทำให้มีลักษณะคล้ายพัดขนาดใหญ่ ก้านใบยาวและหุ้มลำต้นไว้ ดอก: สีขาว ออกเป็นช่อตามซอกใบ มีใบประดับแข็งเป็นกาบคล้ายรูปเรือหุ้มช่อดอก โดยกาบนี้จะเรียงสลับกันซ้ายขวาเป็นช่อแบนๆ ดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีหลายดอกในแต่ละใบประดับ ผล: เมล็ดแก่สีน้ำเงินเข้ม ขนาด 0.6-0.8 เซนติเมตร รูปทรงกลม การนำไปใช้ประโยชน์ ใช้เป็นไม้ประดับสวนทั่วไป แหล่งที่พบ ในมหาวิทยาลัย ทางขึ้นศาลาชื่นอารมณ์ด้านข้างอาคารศูนย์สุขาภาพโซน C

กระท้อน

มะต้อง มะติ๋น (เหนือ) สะท้อน หมากต้อง (อีสาน) สะตู สะตียา (ใต้) Sandoricum koetjape (Burm. f.) Merr. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : MELIACEAE สูง 15-30 เมตร มีน้ำยางสีขาว มักเป็นพูพอนตรงโคนต้น ใบ: ใบประกอบ มีใบย่อยสามใบ รูปไข่หรือรูปรีหรือเกือบกลม ใบแก่สีเขียวเข้ม ดอก: ดอกช่อ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเล็กสีเขียวอมเหลือง มีกลิ่นหอม ผล: ผลขนาดใหญ่ กลมแป้น ฉ่ำน้ำ เปลือกมีขนนุ่ม เนื้อหนานุ่ม ผลสุกสีเหลืองนวล กลิ่นหอม รับประทานได้ เมล็ดมีเนื้อหนาเป็นปุยสีขาวหุ้ม รสหวานอมเปรี้ยวชุ่มคอ การนำไปใช้ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการสร้างบ้าน ผลใช้รับประทาน รากรสเปรี้ยว แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด ดับพิษร้อน เปลือกลูก รสเปรี้ยวเย็น ฝาดสมาน แก้ลงท้อง แก้พยาธิ เปลือกต้น รักษากลากเกลื้อน แก้พิษงู ต้นต้มดื่มแก้ท้องเสีย ใบขับเหงื่อ ต้มอาบแก้ไข้รักษาแผลสด แหล่งที่พบ ในมหาวิทยาลัย ทางเข้าอาคารหอพัก โซน B

กุ่มบก

กุ่ม ผักกุ่ม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ) Crateva adansonii DC. subsp. trifoliata (Roxb.) Jacobs ชื่อวงศ์พรรณไม้ : CAPPARACEAE เป็นไม้ต้นผลัดใบ สูง 5– 25 เมตร ใบ: ใบประกอบ ออกสลับ ใบย่อย 3 ใบ รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 4 – 12 เซนติเมตร ปลายมนหรือกลม มักมีติ่งโคนสอบ เนื้อใบหนา ดอก: ดอกสีขาว เปลี่ยนเป็นสีนวลเมื่อแก่ ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอก 4 กลีบ รูปรี กว้าง 0.5 – 1 เซนติเมตร ยาว 1.5 – 2.5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านสีม่วงยาว ก้านชูเกสรเพศเมียยาวกว่า เกสรเพศผู้ ผล: กลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 – 3.5 เซนติเมตร ผลสุกมีสีน้ำตาลแดงอมม่วง การนำไปใช้ประโยชน์ ใบใช้ต้มน้ำ กินแก้ไข้ ดอกกินแก้เจ็บตาใช้เป็นยาระงับประสาท ยาบำรุง ใบและเปลือกรากใช้ถูนวด แหล่งที่พบ ในมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ด้านหลังอาคาร2 โซน A ทางเข้าอาคารหอพัก โซน B

Back to Top