ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559

รายละเอียด

ชื่อโครงการ: ข้าวหอมมะลิแดง โดย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

หน่วยงาน: คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วัตถุประสงค์

เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย เพื่อรวบรวมพรรณไม้และลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาที่เหมาะสม พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม สร้างรายได้ตามพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียงและการต่อยอดเชิงธุรกิจ แสดงศักยภาพของมหาวิทยาลัยให้เป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลภายนอก เพื่อสร้างแนวทางความเป็นเลิศทางวิชาการและการบริการ

วิธีการดำเนินการและกิจกรรม

การดำเนินงาน เรื่องข้าวกล้องหอมมะลิแดง ซึ่งดำเนินการโดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดอยู่ในกรอบการดำเนินงาน ๒ กรอบ คือ

กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร ดำเนินงานในกิจกรรมที่ ๒: กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช กรอบการใช้ประโยชน์ ดำเนินงานในกิจกรรมที่ ๔: กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช ซึ่งมีรายละเอียดผลการดำเนินงาน

กิจกรรมที่ ๒ สำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช ผู้จัดทำมีความสนใจในการรวบรวมข้อมูลพรรณไม้ของส่วนประกอบที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ คือ ข้าวกล้องหอมมะลิแดง ดังนี้

เหตุผลที่เลือกข้าวหอมมะลิแดงหรือข้าวกล้องหอมมะลิแดงในจังหวัดนครนายก เพราะจังหวัดนครนายก มีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่าร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่การเกษตร ประกอบด้วย ๔ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา อำเภอองครักษ์ และอำเภอปากพลี โดยในระยะหลังมีการส่งเสริมให้ปลูกเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการศึกษาวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ ลักษณะทางพันธุกรรมของข้าว และการนำลักษณะที่เป็นประโยชน์ไปใช้ในงานปรับปรุงพันธุ์ข้าว เกิดเป็นข้าวหอมมะลิแดงหรือข้าวกล้องหอมมะลิแดงขึ้น ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถทนต่อสภาพการเพาะปลูก ทนต่อปัญหาโรคและแมลงในสภาพธรรมชาติได้ดี โดยเฉพาะปัญหาเพลี้ยระบาดอย่างรุนแรง และโรคใบไหม้ มีผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างสูง ผลผลิตมีราคาแพง อีกทั้งยังมีคุณประโยชน์ต่อผู้บริโภคสูงอีกด้วย

ข้าวหอมมะลิแดงหรือข้าวกล้องหอมมะลิแดง Oryza sativa L. จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE) หรือ ชื่อสามัญ คือ Red Brown Jasmine Rice ได้มีนักวิชาการเกษตรปรับปรุงพันธุ์จนมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง (anti-oxidant) ซึ่งสูงกว่าข้าวพันธุ์ธรรมดา ๓๑ เท่า จากการทดสอบ พบว่า มีธาตุเหล็ก วิตามิน B๖ รวมถึงมีวิตามิน แร่ธาตุอื่นๆ ที่สำคัญต่อร่างกาย มีอยู่ในปริมาณที่สูงมาก โดยเฉพาะวิตามิน E ซึ่งมีสูงถึง ๓๓๖.๖๒ ไมโครกรัม/กรัม วิตามิน E มีความเกี่ยวข้องในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การขยายตัวของหลอดเลือด การต้านการแข็งตัวของเลือด การสื่อสารระหว่างเซลล์ ฯลฯ นอกจากนี้แล้ว วิตามิน E ยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย โดยจะทำงานร่วมกันกับสารต้านอนุมูลอิสระชนิด นอกจากนี้ยังมีผลในการปกป้องผิวจากรังสี UV แล้ว วิตามิน E ยังอาจช่วยลดริ้วรอยเหี่ยวย่นและทำให้ผิวดูอ่อนเยาว์มากขึ้นอีกด้วย ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และเปี่ยมไปด้วยวิตามิน B ซึ่งช่วยรักษาภูมิแพ้ รวมถึงมีสารไนอะซิน ซึ่งทำให้ผิวหนังแข็งแรงและมีประสาทที่ฉับไว จึงเหมาะสมที่จะนำมาเป็นส่วนปะกอบสำคัญในการทำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังมีสารอาหารและคุณประโยชน์เพื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ: โดยมีสารอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน(ไม่อิ่มตัว) ไม่มีคลอเรสเตอรอล โปรตีน ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ฟอสฟอรัส ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน แคลเซียมช่วยลดอาการเป็นตะคริว วิตามิน B๑ ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา วิตามิน B๒ ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก ทองแดงช่วยในการสร้างเม็ดเลือด ใยอาหารป้องกันอาการท้องผูก

คุณสมบัติพิเศษ: มีธาตุเหล็กสูง ซึ่งช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง จากการทดสอบพบว่า ข้าวกล้องหอมมะลิแดงที่หุงสุกแล้ว จะมีการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลกลูโคสในช่วงเวลา ๒๐ นาทีแรกค่อนข้างช้า คือ ๑๐.๖๐ กรัม / ๑๐๐ กรัม และปริมาณกลูโคสหลังจากย่อยผ่านไป ๑๒๐ นาที มีค่าเพียง ๘.๕๙ กรัม / ๑๐๐ กรัม แสดงให้เห็นว่า ข้าวหอมมะลิแดงน่าจะเป็นข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลที่เหมาะแก่การส่งเสริมให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานรับประทาน เพราะเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วร่างกายจะมีปริมาณกลูโคสเพิ่มขึ้นช้ากว่าข้าวทั่วไป

กรอบการใช้ประโยชน์

กิจกรรมที่ ๔ อนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช นำข้อมูลพันธุกรรมพืชที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รวบรวมได้มาใช้ประโยชน์ โดยการพัฒนาเป็น ๓ ประเภทผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ๑) ผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน (Home Care) ได้แก่ น้ำยาซักผ้าเด็ก ๒) ผลิตภัณฑ์ความงาม (Beauty Care) ได้แก่ โลชั่นทาผิว และผลิตภัณฑ์ขัดผิว และ ๓) ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Health Care) ได้แก่ โยเกิร์ตพร้อมดื่ม รสธรรมชาติ และรสงาดำ

ชื่อโครงการ: เรื่อง ลูกหว้า โดย วิทยาเขตสุพรรณบุรี

หน่วยงาน: วิทยาเขตสุพรรณบุรี

วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลสมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ ลูกหว้าและสมุนไพรในจังหวัดสุพรรณบุรี พัฒนาตำรับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางจากลูกหว้าและสมุนไพรในจังหวัดสุพรรณบุรี

ผลการดำเนินงาน

การดำเนินงาน เรื่องลูกหว้า ซึ่งดำเนินการโดยวิทยาเขตสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดอยู่ในกรอบการดำเนินงาน ๒ กรอบ คือ

กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร ดำเนินงานในกิจกรรมที่ ๒: กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช กรอบการใช้ประโยชน์ ดำเนินงานในกิจกรรมที่ ๔: กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช ซึ่งมีรายละเอียดผลการดำเนินงาน

เรื่อง การเผยแพร่องค์ความรู้ โดย ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง นครนายก

หน่วยงาน: ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง นครนายก

วัตถุประสงค์

เพื่อสร้างจิตสำนึกให้เยาวชน บุคคลทั่วไปให้เข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของพันธุกรรมพืชที่ได้จากข้าวหอมมะลิแดงและลูกหว้า เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ และสามารถนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์ได้

ผลการดำเนินงาน

การดำเนินงานด้านการเผยแพร่องค์ความรู้ ของศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง นครนายก มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ดำเนินงานตามกรอบการสร้างจิตสำนึกในกิจกรรมที่ ๘ กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช มีรายละเอียดดังนี้