Sunday Dec 22, 2024

กระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบขาว มะเขือมอญ มะเขือพม่า มะเขือทวาย มะเขือละโว้ ถั่วส่าย : Abelmoschus esculentus (L.) Moench. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : Malvaceae ต้นกระเจี๊ยบเขียว จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูงประมาณ 0.5-2.4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีสีเขียว แต่บางครั้งก็มีจุดประม่วง ตามลำต้นจะมีขนอ่อนหยาบ ๆ ขึ้นปกคลุม เช่นเดียวกับใบและผล เจริญเติบโตได้ดีในอากาศกึ่งร้อน หรือที่อุณหภูมิระหว่าง 18-35 องศาเซลเซียส ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด ใบกระเจี๊ยบเขียว มีใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ลักษณะของใบคล้ายรูปฝ่ามือเรียงสลับกัน ใบมักเว้าเป็น 3 แฉก มีความกว้างประมาณ 10-30 เซนติเมตร ปลายใบหยักแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ มีเส้นใบออกจากโคนใบ 3-7 เส้น ใบมีขนหยาบ ก้านใบยาว ดอกกระเจี๊ยบเขียว มีดอกสีเหลืองอ่อน ที่โคนกลีบดอกด้านในจะมีสีม่วงออกแดงเข้ม รูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม ออกดอกตามง่ามใบ มีริ้วประดับเป็นเส้นสีเขียวประมาณ 8-10 เส้น เรียงเป็นวงรอบโคนกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก มีก้านชูอับเรณูรวมกันลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตรหุ้มเกสรตัวเมียไว้ อับเรณูเล็กจำนวนมากติดอยู่รอบหลอด ก้านเกสรตัวเมียมีลักษณะเรียวยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยอดเกสรตัวเมียเป็นแผ่นกลมมีขนาดเล็กสีม่วงแดง ยื่นพ้นปากหลอดดอก ผลกระเจี๊ยบเขียว หรือ ฝักกระเจี๊ยบเขียว ผลมีลักษณะเป็นฝัก โดยฝักคล้ายกับนิ้วมือผู้หญิง ฝักมีสีเขียวทรงเรียวยาว มักโค้งเล็กน้อย ปลายฝักแหลมเป็นจีบ ผิวฝักมีเหลี่ยมเป็นสัน โดยฝักมีสันเป็นเหลี่ยมตามยาวอยู่ 5 เหลี่ยม ตามฝักจะมีขนอ่อน ๆ อยู่ทั่วฝัก ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ในฝักมีน้ำเมือกข้นเหนียวอยู่มาก และมีเมล็ดลักษณะกลมอยู่มาก ขนาดประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ฝักอ่อนมีรสหวานกรอบอร่อย ส่วนฝักแก่จะมีเนื้อเหนียว ไม่เป็นที่นิยมในการรับประทาน การนำไปใช้ประโยนชน์ 1. ฝักอ่อนหรือผลอ่อนใช้เป็นผักจิ้มรับประทาน โดยนำมาต้มให้สุกหรือย่างไฟก่อน หรือนำมาใช้ทำแกงต่าง ๆ เช่น แกงส้ม แกงเลียง แกงจืด ใช้ใส่ในยำต่าง ๆ ใช้ชุบแป้งทอด ทำเป็นสลัดหรือซุปก็ได้ 2. เมนูกระเจี๊ยบเขียว เช่น แกงส้มกระเจี๊ยบเขียว แกงเลียงกระเจี๊ยบเขียว แกงจืดกระเจี๊ยบเขียวยัดไส้ แกงกะหรี่ปลาใส่กระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบเขียวผัดผงกะหรี่ ผัดเมล็ดกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบผัดขิงอ่อน ห่อหมกกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบต้มกะทิปลาสลิด ยำกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบเขียวชุบแป้งทอด สลัดกระเจี๊ยบเขียว ชากระเจี๊ยบเขียว เป็นต้น 3. สำหรับชาวอียิปต์มักใช้ผลกระเจี๊ยบรับประทานร่วมกับเนื้อสัตว์ หรือนำมาใช้ในการปรุงสตูว์เนื้อน้ำข้น สตูว์ผัก หรือนำไปดอง ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาทางตอนใต้จะใช้ผลอ่อนนำมาต้มเป็นสตูว์กับมะเขือเทศที่เรียกว่า “กัมโบ้” หรือทางตอนใต้ของอินเดียจะนำผลกระเจี๊ยบมาผัดหรือใส่ในซอสข้น ส่วนชาวฟิลิปปินส์จะใช้กินเป็นผักสดและนำมาย่างกิน และชาวญี่ปุ่นจะนำมาชุบแป้งทอดกินกับซีอิ้ว 4. ดอกอ่อนและตาดอกสามารถนำมารับประทานได้เช่นกัน 5. รากกระเจี๊ยบสามารถนำมารับประทานได้ แต่จะค่อนข้างเหนียวและไม่เป็นที่นิยม 6. แป้งจากเมล็ดแก่เมื่อนำมาบดสามารถนำมาใช้ทำเป็นขนมปังหรือทำเป็นเต้าหู้ได้ 7. ใบตากแห้งนำมาป่นเป็นผงใช้โรยอาหารและช่วยชูรสชาติอาหารได้ 8. ฝักที่นำมาตากแห้งแล้ว สามารถนำมาใช้ทำเป็นชาไว้ชงดื่มได้ 9. เมล็ดกระเจี๊ยบนำมาคั่วแล้วบดสามารถนำมาใช้แทนเมล็ดกาแฟได้ หรือนำใช้ในการแต่งกลิ่นกาแฟ 10. ใบกระเจี๊ยบนำมาใช้เป็นอาหารวัวหรือใช้เลี้ยงวัวได้ 11. กากเมล็ดมีโปรตีนมาก เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ 12. ในประเทศอินเดียมีการใช้เมล็ดกระเจี๊ยบเพื่อไล่ผีเสื้อเจาะผ้า 13. ในประเทศอินเดีย โรงงานผลิตน้ำตาลบางแห่งมีการใช้เมือกจากต้นนำมาใช้ในกระบวนการทำให้น้ำอ้อยสะอาด 14. เปลือกต้นกระเจี๊ยบ แม้จะไม่เหนียวนักแต่ก็สามารถนำมาใช้ทอกระสอบ ทำเชือก เชือกตกปลา ตาข่ายดักสัตว์ ใช้ถักทอเป็นผ้าได้ หรือทำเป็นกระดาษ ลังกระดาษก็ได้ 15. เมือกจากผลกระเจี๊ยบสามารถนำมาใช้เคลือบกระดาษให้มันได้ 16. กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ตลอดปี จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับเกษตรกรไทย เนื่องจากต่างประเทศมีการสั่งซื้อกระเจี๊ยบของไทยปีละหลายล้านบาท โดยมีบริษัทที่ทำโครงการปลูกกระเจี๊ยบเขียวอย่างครบวงจรมาร่วมมือกับเกษตรกรไทยในหลายพื้นที่ช่วยกันปลูกเพื่อส่งออก 17. สำหรับในต่างประเทศมีการนำกระเจี๊ยบเขียวไปผลิตแปรรูปได้อย่างหลากหลาย เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ทำเป็นอาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง หรืออาหารสำเร็จรูป เช่น กระเจี๊ยบเขียวอบแห้ง หรือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมขนมหวาน รวมไปถึงอุตสาหกรรมเครื่องหอม อุตสาหกรรมยา เช่น ทำเป็นยาผงและแคปซูล

Back to Top