Sunday Feb 23, 2025

กระดังงาจีน

กระดังงาจีน การเวก (กลาง) สะบันงาจีน (เหนือ) : Artabotrys hexapetalus (L.f.) Bhandari ชื่อวงศ์พรรณไม้ : ANNONACEAE ไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยพาดซุ้มหรือค้าง ให้ร่มเงาได้ดี ผิวของกิ่งก้านค่อนข้างเรียบ ยอดอ่อนมีขนใบ: ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรี กว้าง 4-8.5 เซนติเมตร ยาว 8.5-20 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า ดอก: ดอกช่อ ดอกอ่อนสีเขียว มีขน เมื่อแก่สีเหลือง ผิวค่อนข้างเรียบ กลิ่นหอม กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยม กลีบดอกเรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ รูปขอบขนาน ปลายแหลม กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-4.5 เซนติเมตร โคนกลีบเว้าคล้ายรูปไข่ป้อมและโค้งแนบกับโคนกลีบชั้นใน มีจุดกระสีแดงที่ด้านในของโคนกลีบ เนื้อกลีบหนา กลีบดอกชั้นในคล้ายกลีบชั้นนอกแต่ขนาดเล็กกว่า เกสรเพศผู้ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก เกสรเพศเมียมีหลายอัน อยู่แยกกัน ยอดเกสรเพศเมียมีเมือกเหนียวติดกัน ผล: เป็นผลกลุ่ม กลุ่มละ 4-20 ผล แต่ละผลรูปรีป้อมหรือรูปไข่กลับ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง แต่ละผลมี 1-2 เมล็ด การนำไปใช้ประโยนชน์ เป็นไม้ดอกไม้ประดับให้ร่มเงา ให้ดอกตลอดปี มีกลิ่นหอมอ่อน ใช้ทำเครื่องหอม แหล่งที่พบ หน้าศาลาชื่นอารมณ์และศาลากระจ่างศรี โซน C

กล้วยพัด

กล้วยพัด กล้วยฝรั่ง กล้วยลังกา กล้วยศาสนา (กทม.) : Ravenala madagascariensis Sonn. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : STRELITZIACEAE ลักษณะตรง กลม มีข้อสั้นๆ คล้ายตาล สูงถึง 20 เมตรใบ: ใบเดี่ยว ขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายใบกล้วย รูปใบขอบขนาน เรียงเป็นสองทางสลับซ้ายขวาจนถึงยอด ทำให้มีลักษณะคล้ายพัดขนาดใหญ่ ก้านใบยาวและหุ้มลำต้นไว้ ดอก: สีขาว ออกเป็นช่อตามซอกใบ มีใบประดับแข็งเป็นกาบคล้ายรูปเรือหุ้มช่อดอก โดยกาบนี้จะเรียงสลับกันซ้ายขวาเป็นช่อแบนๆ ดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีหลายดอกในแต่ละใบประดับ ผล: เมล็ดแก่สีน้ำเงินเข้ม ขนาด 0.6-0.8 เซนติเมตร รูปทรงกลม การนำไปใช้ประโยชน์ ใช้เป็นไม้ประดับสวนทั่วไป แหล่งที่พบ ในมหาวิทยาลัย ทางขึ้นศาลาชื่นอารมณ์ด้านข้างอาคารศูนย์สุขาภาพโซน C

กระท้อน

มะต้อง มะติ๋น (เหนือ) สะท้อน หมากต้อง (อีสาน) สะตู สะตียา (ใต้) Sandoricum koetjape (Burm. f.) Merr. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : MELIACEAE สูง 15-30 เมตร มีน้ำยางสีขาว มักเป็นพูพอนตรงโคนต้น ใบ: ใบประกอบ มีใบย่อยสามใบ รูปไข่หรือรูปรีหรือเกือบกลม ใบแก่สีเขียวเข้ม ดอก: ดอกช่อ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเล็กสีเขียวอมเหลือง มีกลิ่นหอม ผล: ผลขนาดใหญ่ กลมแป้น ฉ่ำน้ำ เปลือกมีขนนุ่ม เนื้อหนานุ่ม ผลสุกสีเหลืองนวล กลิ่นหอม รับประทานได้ เมล็ดมีเนื้อหนาเป็นปุยสีขาวหุ้ม รสหวานอมเปรี้ยวชุ่มคอ การนำไปใช้ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการสร้างบ้าน ผลใช้รับประทาน รากรสเปรี้ยว แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด ดับพิษร้อน เปลือกลูก รสเปรี้ยวเย็น ฝาดสมาน แก้ลงท้อง แก้พยาธิ เปลือกต้น รักษากลากเกลื้อน แก้พิษงู ต้นต้มดื่มแก้ท้องเสีย ใบขับเหงื่อ ต้มอาบแก้ไข้รักษาแผลสด แหล่งที่พบ ในมหาวิทยาลัย ทางเข้าอาคารหอพัก โซน B

กุ่มบก

กุ่ม ผักกุ่ม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ) Crateva adansonii DC. subsp. trifoliata (Roxb.) Jacobs ชื่อวงศ์พรรณไม้ : CAPPARACEAE เป็นไม้ต้นผลัดใบ สูง 5– 25 เมตร ใบ: ใบประกอบ ออกสลับ ใบย่อย 3 ใบ รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 4 – 12 เซนติเมตร ปลายมนหรือกลม มักมีติ่งโคนสอบ เนื้อใบหนา ดอก: ดอกสีขาว เปลี่ยนเป็นสีนวลเมื่อแก่ ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอก 4 กลีบ รูปรี กว้าง 0.5 – 1 เซนติเมตร ยาว 1.5 – 2.5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านสีม่วงยาว ก้านชูเกสรเพศเมียยาวกว่า เกสรเพศผู้ ผล: กลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 – 3.5 เซนติเมตร ผลสุกมีสีน้ำตาลแดงอมม่วง การนำไปใช้ประโยชน์ ใบใช้ต้มน้ำ กินแก้ไข้ ดอกกินแก้เจ็บตาใช้เป็นยาระงับประสาท ยาบำรุง ใบและเปลือกรากใช้ถูนวด แหล่งที่พบ ในมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ด้านหลังอาคาร2 โซน A ทางเข้าอาคารหอพัก โซน B

อบรมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนปฏิบัติงานโครงการ อพ.สธ.-มสด. ประจำปีงบประมาณ 2568

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (อพ.สธ.-มสด.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำแผนปฏิบัติงาน อพ.สธ.-มสด. ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกรอบและกิจกรรม อพ.สธ. – มสด. ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งได้แนวทางในการจัดตั้ง ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. – มสด. เพื่อสนองงานพระราชดำริ อพ.สธ. ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และ ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการ คณะกรรมการ อพ.สธ. สำนักพระราชวัง ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยาย ในวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมกาหลา ชั้น 3 โรงแรมสวนดุสิต เพลส มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (อพ.สธ.-มสด.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ครั้งที่ 1/2566

รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (อพ.สธ.-มสด.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ครั้งที่ 1/2566 โดยมีวาระเสนอเพื่อพิจารณา ได้แก่ ปฏิทินการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 การนําเสนอการดําเนินกิจกรรม อพ.สธ.-มสด. ประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 21 โครงการ ณ ห้องประชุมหอมขจร อาคาร 2 ชั้น 2 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ในวันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566

การประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (อพ.สธ.-มสด.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ครั้งที่ 2/2566

รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (อพ.สธ.-มสด.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ครั้งที่ 2/2566 โดยมีวาระเรื่องการติดตามความก้าวหน้าในการดําเนินกิจกรรม อพ.สธ.-มสด. ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 21 โครงการ ณ ห้อง Online Learning11 อาคาร 2 ชั้น 4 ห้อง 247 และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ในวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

การลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและถ่ายทำผลงานกิจกรรมการพัฒนาสื่อ E-Learning เพื่อการเรียนรู้ โดยเชื่อมโยงการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากพืชในจังหวัดสุพรรณบุรี ภายใต้โครงการ อพ.สธ. ประจำปีงบประมาณ 2566

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐกฤตา ฟลอเรนไทน์ และคณะทำงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรวัลภ์ เรืองช่วย ตู้ประกาย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารินดา สุขสบาย พร้อมทีมงานถ่ายทำและกองประชาสัมพันธ์ ลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและถ่ายทำผลงานกิจกรรมที่ 16 การพัฒนาสื่อ E-Learning เพื่อการเรียนรู้ โดยเชื่อมโยงการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากพืชในจังหวัดสุพรรณบุรี ภายใต้โครงการ อพ.สธ. ประจำปีงบประมาณ 2566 ณ หอมขจรฟาร์ม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี กิจกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากมะเขือเทศพันธุ์สวีทเกิร์ล ด้วยการผลิตสื่อ E-Learning เพื่อการเรียนรู้ให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองได้ กิจกรรมประกอบด้วยการสัมภาษณ์ การสาธิตขั้นตอนต่าง ๆ ของการเพาะปลูกและการทำเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของมะเขือเทศพันธุ์สวีทเกิร์ล โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ นายธนากร บุญกล่ำ ผู้จัดการและนักวิจัย ผู้ช่วยนักวิจัยและพนักงานเจ้าหน้าที่ของหอมขจรฟาร์ม อาจารย์สุรภา โหมดสุวรรณ และนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง จำนวน 15 คน

โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ นครนายก จัดโครงการการฝึกอบรมปฏิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน 5 องค์ประกอบ สำหรับครูผู้สอนและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (อพ.สธ.-มสด.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ นครนายก จัดโครงการการฝึกอบรมปฏิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน 5 องค์ประกอบ สำหรับครูผู้สอนและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการวิทยาการและชีวิตโดยมีสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเป็นฐานการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ และกายภาพ ภูมิปัญญาและการนำทรัพยากรไปใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนให้กับนักเรียนในทุกระดับชั้นของโรงเรียนฯ โดยได้รับเกียรติจาก ครูวีระสิทธิ์ ทองประเสริฐ และครูวินัย ใหญ่ยิ่ง เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และฝึกปฏิบัติฯ ภาคสนาม ณ ห้องปฎิบัติการวิทยาศาตร์ และสวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นครนายก เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00-15.00 น.

มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เยี่ยมชมศึกษาดูงาน แหล่งเรียนรู้สวนพฤกษศาสตร์พันธุ์ไม้ท้องถิ่นหายาก จังหวัดสุพรรณบุรี ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.-มสด.) ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี

วันที่ 13 มกราคม 2566 ดร.สุชยา เกียรติประจักษ์ หัวหน้าโครงการกิจกรรม การพัฒนาแหล่งเรียนรู้สวนพฤกษศาสตร์พันธุ์ไม้ท้องถิ่นหายาก จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ต้อนรับคณาจารย์และนักศึกษาโปรแกรมวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์และกราฟิก คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จำนวน 43 คน ที่มาศึกษาดูงาน ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ในโครงการพัฒนาคุณลักษณะนักศึกษาโปรแกรมวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์และกราฟิก ในการนี้ คณะผู้มาศึกษาดูงานได้เข้าเยี่ยมชมการแปลงพืชอนุรักษ์โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.-มสด.) และการดำเนินงานหอมขจรฟาร์ม อีกด้วย

Back to Top