Sunday Feb 23, 2025

ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มสด. จัดประชุมหารือ การเตรียมความพร้อมการดำเนินงานศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มสด. เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มสด. ระยะ 5 ปี

ศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มสด.) จัดประชุมหารือ การเตรียมความพร้อมการดำเนินงานศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มสด. เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มสด. ระยะ 5 ปี โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นประธานการประชุม และ ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการ คณะกรรมการ อพ.สธ. สำนักพระราชวัง ให้เกียรติเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่คณะทำงานศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. – มสด. ในวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมหอมขจร อาคาร 2 ชั้น 2 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

พิธีเปิดศูนย์ประสานงานโครงการ อพ.สธ.- มสด.

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้จัดงาน 9 ทศวรรษ รวมตัวสร้างสรรค์ ร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืน และพร้อมกันนี้ในเวลา 13.30 น. ณ อาคารจันทร์เจริญ โถงกระจกชั้น 1 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ได้มีพิธีเปิดศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. – มสด.) อย่างเป็นทางการขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อสนองงานพระราชดำริฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ รวบรวม เชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศในการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นและชุมชน และเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนการให้บริการฝึกอบรม งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และฐานทรัพยากรท้องถิ่นให้กับหน่วยงานภาครัฐ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล โรงเรียน ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และพื้นที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่ภาคกลาง โดยมี คุณพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. – มสด. และมีคณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไล ศรีธนางกูล ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านงานกฎหมาย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุธยา อยู่เย็น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งได้รับเกียรติจากผู้แทนจังหวัดสุพรรณบุรี คุณพจนา เสมา เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมเป็นเกียรติในพิธีฯ

แคหางค่าง

แคขน แคบิด (เหนือ) แคหัวหมู (กลาง, นครราชสีมา) แคพอง (สุราษฎร์ธานี) แฮงป่า (จันทบุรี) แคลาว (เลย) : Fernandoa adenophylla (Wall ex. G. DON) Steenis ชื่อวงศ์พรรณไม้ : BIGNONIACEAE ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 5 – 20 เมตร ลำต้นมักคดงอ เรือนยอดไม่เป็นระเบียบ ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล และมีช่องระบายอากาศทั่วไป เปลือกนอกสีเทา ค่อนข้างเรียบ เปลือกในสีขาวใบ: ใบประกอบ ออกตรงข้ามกันหรือเยื้องกันเล็กน้อย ช่อใบ ยาว 20 – 50 เซนติเมตร แต่ละช่อประกอบด้วย ใบย่อยที่มีรูปและขนาดแตกต่างกันไป 1-4 คู่ เช่น รูปรี รูปมน รูปป้อมหรือรูปสีเหลี่ยมขนมเปียกปูน ดอก: ดอกใหญ่และบานเด่นชัด กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน กลีบดอกเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้มี 4 อัน สั้น 2 ยาว 2 รังไข่ติดเหนือวงกลีบ มี 2 ช่อง มีออวุลหลายหน่วยต่อ 1 ช่อง ผล: เป็นแบบผลแห้งแตก แข็ง ผิวเรียบ ยาวและบิดเป็นเกลียว เมล็ดมีปีก การนำไปใช้ประโยนชน์ เนื้อไม้แปรรูปใช้ทำด้ามเครื่องมือเสาเขื่อนเสาต่างๆ ดอกและฝักอ่อนใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก แต่ต้องทำให้สุกเสียก่อน มีรสขมเล็กน้อย แหล่งที่พบ หลังอาคารเรียน 2 โซน A

แคนา

แค่เก็ตถวา (เชียงใหม่) แคขาว (กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่) แคทราย (กลาง, ราชบุรี) แคป่า (จันทบุรี, เลย) แคอาว (นครราชสีมา, ปราจีน) : Dolichandrone serrulata (DC.) Seem. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : BIGNONIACEAE ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทึบรูปไข่ ลำต้นเปลาตรง มักแตกกิ่งต่ำเปลือกสีน้ำตาลอมเทา เรียบ ดอก: สีขาว ออกเป็นช่อแบบกระจะสั้นตามปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 2-3 เซนติเมตร มี 3-7 ดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันและปลายแยกออกเป็นกาบรองดอก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปแจกันสูง ดอกบานกลางคืน ออกดอกเดือน กุมภาพันธ์ – มิถุนายน ผล: เป็นฝักแห้งแตก รูปขอบขนาน ยาว ผิวเรียบและแข็ง ฝักบิดไปมา ผลออกเดือน มิถุนายน – สิงหาคม การนำไปใช้ประโยนชน์ ดอกและยอดอ่อนรับประทานได้ แหล่งที่พบ ด้านข้างอาคารตึกใหญ่และสวนดุสิตโพล โซน B หน้าอาคารหอพัก โซน B

ค้างคาว

กระโปกลิง (สระบุรี) : Harpullia arborea (Blanco) Radlk. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : SAPINDACEAE ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 10 เมตร ใบ: เป็นใบประกอบแบบขนนกออก เรียงสลับ ใบย่อย 6-10 ใบ ผิวเกลี้ยง รูปรีแกมขอบขนาน โคนใบเว้าเล็กน้อย ปลายแหลม ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ดอก: ออกเป็นช่อ ยาว 15-20 เซนติเมตร มีขนนุ่ม ดอกย่อยขนาดเล็ก สีครีมอมเขียว กลีบดอกมี 4-5 กลีบ เกสรผู้ 5-8 อัน รังไข่มี 2 ช่อง ผล: สีเหลืองส้ม เปลือกหนาคล้ายหนัง ภายในกลวง มีลักษณะเป็น 2 พู เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก เมล็ดค่อนข้างกลม สีดำมัน ขนาด 0.5-0.8 เซนติเมตร การนำไปใช้ประโยนชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี แหล่งที่พบ หน้าอาคารเรียน 4 (ศูนย์การศึกษาพิเศษ) โซน D

มะเขือเปราะ

มะเขือขัยคำ มะเขือคางกบ มะเขือจาน มะเขือแจ้ มะเขือแจ้ดิน มะเขือดำ (ภาคเหนือ), มะเขือหืน (ภาคอีสาน), มะเขือขื่น มะเขือเสวย (ภาคกลาง), เขือพา เขือหิน (ภาคใต้), มั่งคอเก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หวงกั่วเชี๋ย หวงสุ่ยเชี๋ย (จีนกลาง) : Solanum virginianum L. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : SOLANACEAE ต้นมะเขือเปราะ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย จัดเป็นไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 2-4 ฟุต มีอายุได้หลายฤดูกาล ใบมะเขือเปราะ ใบมีขนาดใหญ่ ออกเรียงตัวแบบสลับดอกมะเขือเปราะ ออกดอกเดี่ยว ดอกมีขนาดใหญ่ เป็นสีม่วงหรือสีขาว ผลมะเขือเปราะ ลักษณะของผลมีรูปร่างกลมแบนหรือเป็นรูปไข่ ผลเป็นสีขาวอมเขียว และอาจเป็นสีขาว สีเขียว สีเหลือง หรือสีม่วง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูก ผลเมื่อแก่แล้วจะมีสีเหลือง ส่วนเนื้อในผลเป็นสีเขียวเป็นเมือก มีรสขื่น การนำไปใช้ประโยนชน์ ผล : ผลมะเขือเปราะช่วยลดไข้ ลดการอักเสบ ลดความดันเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ กระตุ้นการเผาผลาญกระตุ้นการขับถ่าย ช่วยขับพยาธิ รักษาเบาหวาน ต้านมะเร็ง และช่วยบำรุงหัวใจได้ ใบ : นำมาขยำแล้วพอกบริเวณแผล จะช่วยห้ามเลือดและรักษาแผลให้หายไวขึ้น และหากนำใบสดมาเคี้ยวจะช่วยบรรเทาอาการเหงือกอักเสบได้ นอกจากนี้การนำใบมะเขือเปราะมาต้มแล้วดื่มยังช่วยแก้อาการร้อนในและช่วยขับปัสสาวะได้ดี แถมยังนำมาต้มอาบแก้บรรเทาอาการคันตามผิวหนังได้ด้วย ราก : นำรากมะเขือเปราะมาต้มดื่มช่วยขับปัสสาวะ บรรเทาอาการไอ แก้อาการอักเสบในลำคอ และแก้โรคหอบหืดได้ หรือหากนำมาเคี้ยวยังช่วยบรรเทาอาการเหงือกบวม เหงือกอักเสบ และลดอาการปวดฟันได้อีกด้วย

มะเขือส้ม

มะเขือเครือ (เหนือ) มะเขือปู (พิษณุโลก) : Lycopersicum esculentum Mill ชื่อวงศ์พรรณไม้ : Solanaceae ต้น : ลำต้นมีความสูงประมาณ 1 – 2 เมตร ล้มง่าย แต่ส่วนที่แตะลงดินจะแตกรากได้ ลำต้นมีขนอ่อนปกคลุม ใบ : ใบออกเป็นใบรวม มีใบย่อยเรียงสลับกันเป็นรูปคล้ายขนนก ริมขอบใบหยักเว้าลึก หรือหยักเป็นฟันเลื่อย ดอก : ดอกออกเป็นช่อออกตามง่ามใบ เป็นดอกขนาดเล็ก กลีบดอกเป็นสีเหลืองเชื่อมติดกันเป็นหลอด ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมรี กลมแบน หรือกลมใหญ่ ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่จะมีสีแดง เมล็ด : เมล็ดมีขนาดเล็กเป็นมีจำนวนมาก การนำไปใช้ประโยนชน์ ใช้ใบสด เป็นยาทาหรือพอกแก้ผิวหนังถูกแดดเผา ผล แก้กระหายน้ำ เป็นยาระบาย อ่อน ๆ ทำให้เจริญอาหาร ช่วยบำรุงและกระตุ้นกระเพาะ อาหาร ใช้รากสด แก้ปวดฟัน ข้อมูลจากภูมิปัญญาไทย : ใช้ ผลสด นำมารับประทาน ปรุงอาหาร แก้กระหายน้ำ ส่วนที่นำมาทำอาหารได้คือผลสุกที่มีสีสันส้ม แดง หรือบางท้องถิ่นก็นิยมผลเขียวที่ไม่สุกด้วยเช่นกัน สามารถนำมาเป็นส่วนประกอบอาหารได้หลายชนิดแทนมะเขือเทศได้เลย เช่น น้ำพริกอ่อง แกงส้ม ต้มยำ ส้มตำ

มะขามป้อม

กันโตด (เขมร – กาญจนบุรี) กำทวด (ราชบุรี) มะขามป้อม (ทั่วไป) มั่งลู่, สันยาส่า (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน) : Phyllanthus emblica L. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : PHYLLANTHACEAE เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก-กลาง สูง 8-12 เมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกนอกสีน้ำตาลอบเทา ผิวเรียบหรือค่อนข้างเรียบ เปลือกในสีชมพูสด ใบเดี่ยว มีลักษณะคล้ายใบประกอบคล้ายใบมะขาม รูปขอบขนานติดเรียงสลับ กว้าง 0.25-0.5 ซม.ยาว 0.8-12 ซม. สีเขียวอ่อนเรียงชิดกัน ใบสั้นมาก เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ดอกขนาดเล็กแยกเพศ แต่อยู่บนกิ่งหรือต้นเดียวกัน ออกตามง่ามใบ 3-5 ดอกแน่น ตามปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 6 กลีบ ดอกสีขาวหรือขาวนวล ผลทรงกลมมีเนื้อหนา 1.2-2 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน ผลแก่มีเขียวอ่อนค่อนข้างใส มีเส้นริ้วๆ ตามยาว สังเกตได้ 6 เส้น เนื้อผลรับประทานได้มีรสฝาดเปรี้ยว ขมและอมหวาน เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมี 6 เส้น เมล็ดมี 6 เมล็ด การนำไปใช้ประโยนชน์ ผล : นำมาทานหรือคั้นเป็นน้ำดื่มแก้อาการท้องเสีย แก้กระหาย แก้หวัด แก้ไอ ช่วยละลายเสมหะ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยรักษาโรคบิด ช่วยรักษาเลือดออกตามไรฟัน เป็นยาระบาย เป็นยาถ่ายพยาธิ และใช้ล้างตาแก้ตาแดงได้ เมล็ด : นำมาชงน้ำร้อนดื่มแก้หืด แก้อาหารคลื่นไส้ อาเจียน โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ และนำมาล้างตา ช่วยรักษาโรคตาต่างได้ อีกทั้งถ้าบีบเอาน้ำมันจากเมล็ดมาทาศีรษะสามารถช่วยให้เส้นผมดกดำขึ้นได้ เปลือก : นำมาต้มน้ำทานแก้โรคบิดและช่วยรักษาอาการฟกช้ำได้ ก้าน : นำมาต้มน้ำแล้วนำไปอมช่วยแก้อาการปวดฟัน แก้ไอ แก้ปวดท้องน้อย และแก้ปวดเมื่อยตามกระดูกได้ ใบ : นำมาต้มอาบ ช่วยลดไข้ได้ ดอก : ใช้เข้าเครื่องยา ทำเป็นยาเย็นและยาระบายได้ ยาง : นำมาทานช่วยย่อยอาหาร ช่วยขับปัสสาวะ และนำไปหยอดตาแก้อาการตาอักเสบได้ ราก : สามารถนำมาทานแก้ท้องเสีย แก้ร้อนใน แก้โรคเรื้อน กินเป็นยาลดไข้ ช่วยฟอกเลือด และช่วยลดความดันเลือดลงได้

กระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบขาว มะเขือมอญ มะเขือพม่า มะเขือทวาย มะเขือละโว้ ถั่วส่าย : Abelmoschus esculentus (L.) Moench. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : Malvaceae ต้นกระเจี๊ยบเขียว จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูงประมาณ 0.5-2.4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีสีเขียว แต่บางครั้งก็มีจุดประม่วง ตามลำต้นจะมีขนอ่อนหยาบ ๆ ขึ้นปกคลุม เช่นเดียวกับใบและผล เจริญเติบโตได้ดีในอากาศกึ่งร้อน หรือที่อุณหภูมิระหว่าง 18-35 องศาเซลเซียส ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด ใบกระเจี๊ยบเขียว มีใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ลักษณะของใบคล้ายรูปฝ่ามือเรียงสลับกัน ใบมักเว้าเป็น 3 แฉก มีความกว้างประมาณ 10-30 เซนติเมตร ปลายใบหยักแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ มีเส้นใบออกจากโคนใบ 3-7 เส้น ใบมีขนหยาบ ก้านใบยาว ดอกกระเจี๊ยบเขียว มีดอกสีเหลืองอ่อน ที่โคนกลีบดอกด้านในจะมีสีม่วงออกแดงเข้ม รูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม ออกดอกตามง่ามใบ มีริ้วประดับเป็นเส้นสีเขียวประมาณ 8-10 เส้น เรียงเป็นวงรอบโคนกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก มีก้านชูอับเรณูรวมกันลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตรหุ้มเกสรตัวเมียไว้ อับเรณูเล็กจำนวนมากติดอยู่รอบหลอด ก้านเกสรตัวเมียมีลักษณะเรียวยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยอดเกสรตัวเมียเป็นแผ่นกลมมีขนาดเล็กสีม่วงแดง ยื่นพ้นปากหลอดดอก ผลกระเจี๊ยบเขียว หรือ ฝักกระเจี๊ยบเขียว ผลมีลักษณะเป็นฝัก โดยฝักคล้ายกับนิ้วมือผู้หญิง ฝักมีสีเขียวทรงเรียวยาว มักโค้งเล็กน้อย ปลายฝักแหลมเป็นจีบ ผิวฝักมีเหลี่ยมเป็นสัน โดยฝักมีสันเป็นเหลี่ยมตามยาวอยู่ 5 เหลี่ยม ตามฝักจะมีขนอ่อน ๆ อยู่ทั่วฝัก ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ในฝักมีน้ำเมือกข้นเหนียวอยู่มาก และมีเมล็ดลักษณะกลมอยู่มาก ขนาดประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ฝักอ่อนมีรสหวานกรอบอร่อย ส่วนฝักแก่จะมีเนื้อเหนียว ไม่เป็นที่นิยมในการรับประทาน การนำไปใช้ประโยนชน์ 1. ฝักอ่อนหรือผลอ่อนใช้เป็นผักจิ้มรับประทาน โดยนำมาต้มให้สุกหรือย่างไฟก่อน หรือนำมาใช้ทำแกงต่าง ๆ เช่น แกงส้ม แกงเลียง แกงจืด ใช้ใส่ในยำต่าง ๆ ใช้ชุบแป้งทอด ทำเป็นสลัดหรือซุปก็ได้ 2. เมนูกระเจี๊ยบเขียว เช่น แกงส้มกระเจี๊ยบเขียว แกงเลียงกระเจี๊ยบเขียว แกงจืดกระเจี๊ยบเขียวยัดไส้ แกงกะหรี่ปลาใส่กระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบเขียวผัดผงกะหรี่ ผัดเมล็ดกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบผัดขิงอ่อน ห่อหมกกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบต้มกะทิปลาสลิด ยำกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบเขียวชุบแป้งทอด สลัดกระเจี๊ยบเขียว ชากระเจี๊ยบเขียว เป็นต้น 3. สำหรับชาวอียิปต์มักใช้ผลกระเจี๊ยบรับประทานร่วมกับเนื้อสัตว์ หรือนำมาใช้ในการปรุงสตูว์เนื้อน้ำข้น สตูว์ผัก หรือนำไปดอง ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาทางตอนใต้จะใช้ผลอ่อนนำมาต้มเป็นสตูว์กับมะเขือเทศที่เรียกว่า “กัมโบ้” หรือทางตอนใต้ของอินเดียจะนำผลกระเจี๊ยบมาผัดหรือใส่ในซอสข้น ส่วนชาวฟิลิปปินส์จะใช้กินเป็นผักสดและนำมาย่างกิน และชาวญี่ปุ่นจะนำมาชุบแป้งทอดกินกับซีอิ้ว 4. ดอกอ่อนและตาดอกสามารถนำมารับประทานได้เช่นกัน 5. รากกระเจี๊ยบสามารถนำมารับประทานได้ แต่จะค่อนข้างเหนียวและไม่เป็นที่นิยม 6. แป้งจากเมล็ดแก่เมื่อนำมาบดสามารถนำมาใช้ทำเป็นขนมปังหรือทำเป็นเต้าหู้ได้ 7. ใบตากแห้งนำมาป่นเป็นผงใช้โรยอาหารและช่วยชูรสชาติอาหารได้ 8. ฝักที่นำมาตากแห้งแล้ว สามารถนำมาใช้ทำเป็นชาไว้ชงดื่มได้ 9. เมล็ดกระเจี๊ยบนำมาคั่วแล้วบดสามารถนำมาใช้แทนเมล็ดกาแฟได้ หรือนำใช้ในการแต่งกลิ่นกาแฟ 10. ใบกระเจี๊ยบนำมาใช้เป็นอาหารวัวหรือใช้เลี้ยงวัวได้ 11. กากเมล็ดมีโปรตีนมาก เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ 12. ในประเทศอินเดียมีการใช้เมล็ดกระเจี๊ยบเพื่อไล่ผีเสื้อเจาะผ้า 13. ในประเทศอินเดีย โรงงานผลิตน้ำตาลบางแห่งมีการใช้เมือกจากต้นนำมาใช้ในกระบวนการทำให้น้ำอ้อยสะอาด 14. เปลือกต้นกระเจี๊ยบ แม้จะไม่เหนียวนักแต่ก็สามารถนำมาใช้ทอกระสอบ ทำเชือก เชือกตกปลา ตาข่ายดักสัตว์ ใช้ถักทอเป็นผ้าได้ หรือทำเป็นกระดาษ ลังกระดาษก็ได้ 15. เมือกจากผลกระเจี๊ยบสามารถนำมาใช้เคลือบกระดาษให้มันได้ 16. กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ตลอดปี จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับเกษตรกรไทย เนื่องจากต่างประเทศมีการสั่งซื้อกระเจี๊ยบของไทยปีละหลายล้านบาท โดยมีบริษัทที่ทำโครงการปลูกกระเจี๊ยบเขียวอย่างครบวงจรมาร่วมมือกับเกษตรกรไทยในหลายพื้นที่ช่วยกันปลูกเพื่อส่งออก 17. สำหรับในต่างประเทศมีการนำกระเจี๊ยบเขียวไปผลิตแปรรูปได้อย่างหลากหลาย เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ทำเป็นอาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง หรืออาหารสำเร็จรูป เช่น กระเจี๊ยบเขียวอบแห้ง หรือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมขนมหวาน รวมไปถึงอุตสาหกรรมเครื่องหอม อุตสาหกรรมยา เช่น ทำเป็นยาผงและแคปซูล

หมากเขียว

หมากฝรั่ง (กรุงเทพฯ) ปาล์มหมาก (กรุงเทพฯ) หมากพร้าว (เชียงใหม่, นราธิวาส) : Ptychosperma macarthurii H. Wendl. ชื่อวงศ์พรรณไม้ : PALMAE ต้น: ลำต้นก็เกิดจากหน่อ สูงประมาณ 10-20 เมตร ลักษณะผอมและเป็นข้อปล้องตรง เมื่อยังอ่อนเปลือกจะเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลอมเขียว ใบ: ใบประกอบแบบขนนก ทางใบหนึ่งประกอบด้วยใบย่อยอยู่ประมาณ 40 ใบ ใบย่อยยาว 10 -15 เซนติเมตร กว้าง 4 เซนติเมตร โคนก้านทางใบจะเป็นกาบห่อหุ้มลำต้นเอาไว้ เนื้อใบอ่อนและสีเขียวเข้ม ใบสีเขียวอ่อน ดอก: เป็นช่อคล้ายจั่นหมาก ดอกย่อยขนาดเล็ก สีเหลือง อมเขียว หรือสีขาวนวล ผล: กลม ขนาดเล็ก มีสีเขียวอ่อน แต่พอแก่จะกลายเป็นสีแดง มีเมล็ดอยู่ภายในเมล็ดหนึ่ง การนำไปใช้ประโยนชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ แหล่งที่พบ ด้านข้างอาคารตึกใหญ่ทางเข้าหอพัก โซน B

Back to Top