ข้อมูลพันธุ์ไม้/การนำไปใช้ประโยชน์

รูปภาพ

แสดงรายละเอียดพันธุ์ไม้

มะแขว่น

มะกรูดตาพราหมณ์ (นครราชสีมา); กำจัดต้น, พริกหอม, หมากมาศ (กรุงเทพฯ); มะข่วง, มะแขว่น, บ่าแข่น (ภาคเหนือ); มะแข่น (ไทสิบสองพันนา); มะแขว่น (ลาว); ลูกระมาศ (ภาคกลาง); หมักข่วง (แม่ฮ่องสอน); มะเข่น, มะแข่สะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)

Zanthoxylum limonella Alston

Rutaceae

รายละเอียด

ลำต้นมะแขว่น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ลำต้นมีเปลือกสีเทาอมขาว ลำต้น และกิ่ง มีตุ่มหนามแหลมขนาดใหญ่ขึ้นปกคลุม

ใบ มะแขว่น เป็นประกอบแบบขนนก ประกอบด้วยก้านใบหลักยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีหนามเป็นระยะๆ บนก้านใบมีใบย่อย 10-28 ใบ ใบย่อยแต่ละใบมีก้านใบสั้น 0.5-1 เซนติเมตร ส่วนแผ่นใบย่อยแต่ละใบมีรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบ และแผ่นใบเรียบ ใบมีความกว้าง ประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร เมื่อขยี้ใบจะมียาง และมีกลิ่นหอม

ดอกมะแขว่น ออกดอกเป็นช่อแบบกระจายบริเวณปลายยอด ช่อดอกมีความยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ประกอบด้วยช่อดอกย่อยจำนวนมาก ส่วนตัวดอกออกเป็นกระจุกที่ปลายช่อของแต่ละก้านช่อย่อย ตัวดอกมีขนาดเล็ก มีรูปทรงกลม สีขาวอมเขียว ขนาดดอกประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบรองดอก 4 กลีบ และกลีบดอก 4 กลีบ ตรงกลางมีเกสรตัวผู้ 4 อัน และเกสรตัวเมีย 1 อัน ทั้งนี้ ดอกมะแขว่นจะเริ่มออกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน

ผลมะแขว่นมีลักษณะทรงกลม ขนาดประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร ผลอ่อนมีเปลือกสีเขียว ผลแก่มีเปลือกสีแดง และแก่จัดมีสีดำอมน้ำตาล เปลือกผลมีผิวขรุขระ และปริแตกออกเป็น 2 ซีก เมื่อแก่จัดหรือเมื่อผลแห้งจนมองเห็นเมล็ดด้านใน ซึ่งมีลักษณะทรงกลม เปลือกเมล็ดมีสีดำ และเป็นมัน ขนาดเมล็ดประมาณ 0.25-0.35 เซนติเมตร ผลมะแขว่นนี้ นิยมใช้เป็นเครื่องเทศประกอบอาหาร ซึ่งให้รสเผ็ดร้อน และมีกลิ่นหอมแรง

ถิ่นที่อยู่

พบทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยธรรมชาติพบขึ้นในป่าดิบแล้ง หรือป่าดิบเขา

การนำไปใช้ประโยชน์

เมล็ด สามารถสกัดน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ ถอนพิษฟกบวม แก้หนองใน

ราก, เปลือกและเนื้อไม้ ขับลมในลำไส้ แก้ลมขึ้นเบื้องสูง หน้ามืด ตาลาย วิงเวียน ขับระดู (ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์)

ใบ ขยี้อุดฟันแก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน

ตำรายาจีน ใช้แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาเจียน แก้ท้องเสีย และแก้อาการปวดไส้เลื่อน