ข้อมูลพันธุ์ไม้/การนำไปใช้ประโยชน์

รูปภาพ

แสดงรายละเอียดพันธุ์ไม้

ย่านางแดง

สยาน (ตาก, ลำปาง), เครือขยัน (ภาคเหนือ), หญ้านางแดง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ขยัน, เถาขยัน

Bauhinia strychnifolia Craib.

จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)

รายละเอียด

เป็นไม้เถาเลื้อยค่อนข้างแข็ง สามารถเลื้อยได้ไกลประมาณ 4-10 เมตร เถาเป็นสีน้ำตาลดำพาดพันต้นไม้อื่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ก้านใบยาว รูปกลมรีปลายใบแหลม โคนใบมน สีเขียวสดและเป็นมัน ยอดอ่อนเป็นสีแดง ดอก ออกเป็นช่อยาวที่ปลายกิ่ง ลักษณะดอกเป็นหลอดกลวงโค้งเล็กน้อย ปลายบานและห้อยลงเหมือนกับดอกประทัดจีน ช่อดอกยาวประมาณ 100 ซม. ดอกยาวประมาณ 2.5 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเป็นสีแดงมีด้วยกัน 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 5 อัน เวลามีดอกจะดูสวยงามยิ่ง “ผล” เป็นฝักยาวรูปแบน ฝักอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลคล้ำ มีเมล็ดหลายเมล็ดดอกและผลทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง และเสียบยอด

ถิ่นที่อยู่

พบขึ้น ทางภาคเหนือแถบจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.เลย และกาฬสินธุ์ มักจะขึ้นกระจายห่างๆในป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้ง หรือที่โล่งแจ้ง ระดับความสูงไม่เกิน 300 เมตร

การนำไปใช้ประโยชน์

ยาพื้นบ้านอุบลราชธานี ใช้ ราก แก้ไข้ แก้พิษเบื่อเมา

ยาพื้นบ้านอีสาน ใช้ ลำต้น หรือราก เข้ายาบำรุงโลหิต สำหรับสตรีหลังคลอด ขณะอยู่ไฟ ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น

ตำรายาไทย ใช้ ใบ เถา และราก ใช้แก้พิษ ถอนพิษยาเมา ยาเบื่อ ยาสั่ง ถอนพิษผิดสำแดง ถอนพิษและแก้ไข้พิษทั้งปวง ขับพิษโลหิตและน้ำเหลือง แก้ท้องผูกไม่ถ่าย ใช้ฝนกับน้ำ หรือน้ำซาวข้าว หรือต้มน้ำดื่ม สรรพคุณเหมือนย่านางขาวทุกประการ แต่มีฤทธิ์แรงกว่า