ข้อมูลพันธุ์ไม้/การนำไปใช้ประโยชน์

รูปภาพ

แสดงรายละเอียดพันธุ์ไม้

มะระขี้นก

ผักไห่ มะไห่ มะนอย มะห่วย ผักไซ (เหนือ) สุพะซู สุพะเด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มะร้อยรู มะระหนู (กลาง) ผักเหย (สงขลา) ผักไห (นครศรีธรรมราช) ระ (ใต้) ผักสะไล ผักไส่ ผักไซร้ (อีสาน) โกควยเกี๋ยะ โควกวย (จีน) มะระเล็ก มะระขี้นก (ทั่วไป) ชาวปานามาเรียก บัลซามิโน่

Momordica charantia L.

CUCURBITACEAE

รายละเอียด

ลำต้นเป็นเถาเลื้อยมีสีเขียวขนาดเล็กมี 5 เหลี่ยม มีขนอยู่ทั่วไป มีมือเกาะซึ่งเปลี่ยนมาจากใบเจริญออกมาจากส่วนของข้อ ใช้สำหรับยึดจับ

ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ก้านใบยาว ขอบใบเว้าหยักลึกเข้าไปในตัวใบ 5-7 หยัก ปลายใบแหลม ใบกว้าง 4.5-11.5 เซนติเมตร ยาว 3.5-10 เซนติเมตร เส้นใบแยกออกจากจุดเดียวกันแล้วแตกเป็นร่างแห มีขนอ่อนนุ่มปกคลุมเล็กน้อย เมื่อแก่จัดจะมีสีเขียวเข้ม

ดอกเป็นดอกเดี่ยวแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน เจริญมาจากข้อ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-3.5 เซนติเมตร มีกลีบนอก 5กลีบ สีเขียวปนเหลือง กลีบในมี 5 กลีบ สีเหลืองสด ดอกตัวผู้เจริญออกมาก่อนดอกตัวเมีย เกสรตัวผู้มี 3 อัน แต่ละอันมีก้านชูเกสรตัวผู้ 3 อัน และมีอับเรณู 3 อัน ดอกตัวเมียมีรังไข่แบบหลบใน (inferior ovary) มีรังไข่ 1 อัน stigma 3 คู่ ก้านชูเกสรตัวเมีย 3 อัน

ผลรูปร่างคล้ายกระสวยสั้นๆ ผิวเปลือกขรุขระและมีปุ่มยื่นออกมา ผลยาว 5-7 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางผล 2-4 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเหลืองอมแดง ปลายผลจะแตกเป็น 3 แฉก

เมล็ดมีรูปร่างกลม รี แบน ปลายแหลมสีฟางข้าว เมื่อแก่เต็มที่มีเมือกสีแดงสดห่อหุ้มเมล็ดอยู่ เนื่องจากพืชชนิดนี้เป็นผักพื้นบ้านธรรมชาติที่ขึ้นได้ทั่วๆ ไป นกจึงชอบมาจิกกินทั้งผลและเมล็ด จากนั้นก็ถ่ายเมล็ดไว้ตามที่ต่างๆ ถ้าเมล็ดได้ดินดีมีน้ำพอเหมาะก็จะงอก ผลิใบทอดลำต้นเลื้อยไปเกาะตามที่ๆ มันเกาะได้ เช่น ต้นไม้ใหญ่ แนวรั้วบ้าน เหตุนี้เองมะระลูกเล็กลูกนี้จึงถูกเรียกว่า "มะระขี้นก"

ถิ่นที่อยู่

มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของเอเชียและทางตอนเหนือของแอฟริกาเขตร้อน

การนำไปใช้ประโยชน์

ผลที่ยังไม่สุก มีสรรพคุณช่วยเจริญอาหาร แก้ไข้ ดับพิษร้อน แก้ปากเปื่อย ปากเป็นขุม ขับพยาธิ บำรุงน้ำดี แก้อักเสบ ยาระบายอ่อนๆ และรักษาเบาหวาน